ประวัติศาสตร์การรัฐประหารของประเทศไทย
ย้อนรอยรัฐประหาร 13 ครั้ง นานแค่ไหนกว่าจะเลือกตั้ง คสช.ท้าชิงสฤษดิ์-ถนอม
Submitted on Fri, 2017-01-13 13:02
ระหว่างที่ผู้คนคงกำลังลุ้นว่าการเลือกตั้งจะเกิดเมื่อไรแน่ เราชวนดูประวัติศาสตร์การรัฐประหารของไทย แต่ละยุคสมัยครองอำนาจกันนานเท่าไรกว่าจะจัดเลือกตั้ง น่าแปลกที่ส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่กี่เดือน ไม่น่าเชื่อว่า คสช.ที่ทำรัฐประหารในยุคสมัยใหม่โลกหมุนไปไกลแล้วนั้นจะอยู่ยาวเป็นอันดับต้นๆ
หากนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน อยู่ในอำนาจ 2 ปี 7 เดือน 22 วันแล้ว มีการขยาย “สัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ออกไปเรื่อยๆ และจนขณะนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะคืนอำนาจและจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อไร
หากนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์เป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง แม้ คสช. จะทำรัฐประหารในวันที่โลกหมุนไปไกลและไม่น่าเชื่อว่าจะยังทำ(รัฐประหาร)ได้ แต่ คสช.กลับอยู่ในอำนาจยาวนานและทิ้งช่วงเวลาจัดการเลือกตั้งยาวนานเป็นอันดับ 3
อันดับหนึ่งคือ สมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ทำรัฐประหารครั้งที่สอง ในนาม “คณะปฏิวัติ” ในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จนกระทั่งจัดการเลือกตั้งในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 รวมระยะเวลา 10 ปี 3 เดือน 21 วัน
อันดับสองคือ “คณะปฏิวัติ” ของ จอมพลถนอม กิตติขจร ที่ขึ้นกุมอำนาจเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จนกระทั่งรัฐบาลถนอมถูกโค่นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จากนั้นจึงมีการจัดเลือกตั้งเมื่อ 26 มกราคม 2518รวมใช้เวลา 3 ปี 2 เดือน 9 วัน
คสช.ยังอยู่ยาวแซง คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่ ที่ใช้เวลา 1 ปี 6 เดือน 2 วัน จึงจะจัดการเลือกตั้งครั้งแรก รวมทั้งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) นำโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่ใช้เวลา 1 ปี 3 เดือน 4 วัน จึงจัดการเลือกตั้งครั้งแรก รวมถึงคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดยพล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ใช้เวลา 1 ปี 28 วัน จึงจัดการเลือกตั้งครั้งแรก
ส่วนการรัฐประหารอื่นๆ อีก 8 ครั้งในประวัติศาสตร์นั้น คณะทหารมักอยู่ในอำนาจราว 1 - 4 เดือนเท่านั้นแล้วเร่งจัดการเลือกตั้ง หรือไม่เช่นนั้นก็ยังไม่ทันได้จัดเลือกตั้งแต่ถูกรัฐประหารซ้อนหรือทำรัฐประหารตัวเองเพื่อกระชับอำนาจเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม ต้องเตือนสติกันไว้ด้วยว่า “การเลือกตั้งทั่วไป” ไม่ได้หมายความถึงการหลุดออกจากเงาของคณะรัฐประหาร ในอดีตที่ผ่านมา การเลือกตั้งหลังรัฐประหาร บางครั้งก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ที่อยู่ภายใต้กติกาหรือรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารร่างขึ้น และมักจบลงด้วยการที่รัฐบาลพลเรือนดังกล่าวถูกล้มล้างเนื่องจากกลไกกติกาที่ว่า หรือคณะรัฐประหารทำรัฐประหารซ้ำเสียเองเพื่อกระชับอำนาจ นอกจากนี้ยังมีหลายกรณีที่การเลือกตั้งเป็นเพียง “ฉากหน้า” เพราะมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนโดยผู้ทำรัฐประหาร เช่น กรณีเลือกตั้งเมื่อปี 2512 ที่ ส.ส. พรรคสหประชาไทย ยังคงรวมเสียงพรรคการเมืองต่างๆ ตั้งรัฐบาลผสมและหนุนจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี
หรือกรณีเลือกตั้งปี 2522 ที่พรรคการเมืองต่างๆ หันไปสนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทหารเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย หลัง พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ทำรัฐประหารครั้งที่สอง และเมื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ แถลงลาออกกลางสภาในเดือนมีนาคมปี 2523 ส.ส. ในสภาก็ยังคงเลือก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบกและ รมว.กลาโหม ในเวลานั้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใด ส.ส. ก็ยังคงเลือก พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี การเมืองในช่วงนี้จนถึงปี 2531 ถูกเรียกว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ หากพิจารณาระยะเวลาการอยู่ในอำนาจของคณะรัฐประหาร 2 ชุดหลังสุด คมช.-คสช. จะพบว่า มีระยะเวลาการอยู่ในอำนาจ จนกว่าจะจัดการเลือกตั้งครั้งแรก ยืดเวลานานขึ้นเรื่อยๆ
ฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า รัฐประหารครั้งล่าสุดมีแนวโน้มต้องการเวลายาวนานในการจัดการสถานการณ์ทางการเมืองและจัดระเบียบโครงสร้างทางการเมืองใหม่หมดผ่านรัฐธรรมนูญ สาเหตุมาจากปัจจัยหลักที่พรรคของพลเรือนนั้นเข้มแข็งมากขึ้นอันเป็นผลผลิตจากรัฐธรรมนูญ 2540 “ทักษิณ ชินวัตร” และพรรคของเขายังคงได้รับความนิยมจากคนรากหญ้าอย่างสูง แม้ถูกยุบพรรคหลายครั้งหรือนายกฯ ถูกปลดหลายคน เป็นโจทย์เสี้ยนหนามที่ต้องใช้เวลาบ่งอย่างประณีต
ในล้อมกรอบด้านล่าง เป็นการคัดเลือก 6 อันดับของคณะรัฐประหารไทยที่ใช้เวลาครองอำนาจสูงสุดกว่าจะจัดการเลือกตั้งพร้อมข้อมูลโดยสังเขป ใครจะรู้ว่าเราต้องอยู่กับ คสช.ยาวนานแค่ไหน และเรื่องราวจะย้อนยุคไปได้ไกลเพียงไร
คณะปฏิวัติ
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ - จอมพลถนอม กิตติขจร
รัฐประหารครั้งที่สอง เมื่อ 20 ตุลาคม 2501 จัดเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหารเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2512 รวมแล้วใช้เวลา 10 ปี 3 เดือน 21 วัน กว่าจะจัดเลือกตั้งครั้งแรก
การรัฐประหารครั้งแรก “ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร”
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2550 โดยมีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร (ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 74 ตอนที่ 76 16 กันยายน 2500)
ผลของการรัฐประหารดังกล่าว ทำให้กลุ่มผู้นำรัฐบาลที่เคยมาจากคณะราษฎรสิ้นสุดบทบาทลงอย่างสิ้นเชิง มีการเชิญ พจน์ สารสิน เลขาธิการองค์การซีโต้มาเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 กันยายน 2500 ต่อมาจัดเลือกตั้งในวันที่ 15 ธันวาคม 2500
ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่า พรรคสหภูมิ ได้ ส.ส. มากที่สุดคือ 45 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด159 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 39 ที่นั่ง โดยจอมพล สฤษดิ์ ได้แนะนำให้ พล.ท.ถนอม กิตติขจร (ยศในขณะนั้น) รองหัวหน้าพรรคพรรคชาติสังคมที่ได้ ส.ส. 9 ที่นั่ง ร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ตั้งรัฐบาลขึ้นมา ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ฝ่ายค้าน
รัฐประหารครั้งที่สองในนาม “คณะปฏิวัติ”
อย่างไรก็ตาม 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้ง โดยประกาศให้ยกเลิกพรรคการเมืองทั้งหมด ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น และยกเลิกรัฐสภา พร้อมกับขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน (วิกิพีเดีย)
รัฐประหารครั้งนี้ถือว่า จอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจตัวเองก็ได้ โดยในเดือนมกราคม มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้จอมพลสฤษดิ์ใช้อำนาจในตำแหน่งได้อย่างเบ็ดเสร็จ มีรัฐธรรมนูญมาตรา 17 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีจัดการกับบุคคลที่ก่อความไม่สงบได้ทันที แล้วจึงค่อยแจ้งต่อสภา ทำให้ในช่วงที่จอมพลสฤษดิ์อยู่ในอำนาจ มีการใช้มาตรา 17 สั่งประหารชีวิตคนจำนวนมาก
กระทั่งภายหลังจอมพลสฤษดิ์ เสียชีวิตเมื่อ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 จอมพลถนอม กิตติขจร จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากจอมพลสฤษดิ์ โดยในที่สุดรัฐธรรมนูญที่ร่างมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ก็มีการประกาศใช้เมื่อ 20 มิถุนายน 2511 เป็น “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511” มีการจัดเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 รวมเวลานับตั้งแต่การรัฐประหารครั้งที่ 2 ของจอมพลสฤษดิ์เมื่อ 20 ตุลาคม 2501 ถึงวันเลือกตั้งครั้งแรกกินเวลา 10 ปี 3 เดือน 21 วัน
โดยผลการเลือกตั้ง จอมพลถนอม ซึ่งไม่ได้ลงเลือกตั้ง แต่เป็นหัวหน้าพรรคสหประชาไทย ได้ที่นั่ง 74 ที่นั่ง ทำให้จอมพลถนอมรวมเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลตั้งรัฐบาลผสมและเป็นนายกรัฐมนตรีต่อสมัยที่สอง ส่วน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ที่นั่ง 55 ที่นั่ง เป็นแกนนำฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตามในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอมก็ทำรัฐประหารตัวเอง
คณะปฏิวัติ (ครั้งที่ 2)
จอมพลถนอม กิตติขจร
รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 จัดการเลือกตั้งครั้งแรก 26 มกราคม 2518 รวมใช้เวลา 3 ปี 2 เดือน 9 วันกว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งครั้งแรก
หลังจัดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2512 และตั้งรัฐบาลที่จอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมา จอมพลถนอมก็ทำรัฐประหารตัวเองเมื่อ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 (ราชกิจจานุเบกษา) ยกเลิกรัฐสภา พรรคการเมือง และประกาศใช้กฎอัยการศึก ตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติ ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิกิพีเดีย)
จนกระทั่งรัฐบาลทหารของจอมพลถนอมถูกโค่นลงอันเป็นผลจากการชุมนุมของนิสิต นักศึกษา กรรมกร ประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 จากนั้นสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 เป็นแนวทาง ใช้เวลายกร่าง 3 เดือนก็เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาปรับปรุงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2517 และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาและลงมติเห็นชอบเมื่อ 5 ตุลาคม 2517 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 (วิกิพีเดีย)
โดยหลังจากนั้นจึงมีการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 โดยผลการเลือกตั้ง พรรคกิจสังคม ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ได้ ส.ส. เพียง 18 ที่นั่ง สามารถรวมเสียงจากพรรคอื่นๆ เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีจำนวน ส.ส. มากที่สุดในสภาคือ 57 ที่นั่ง ต้องเป็นพรรคฝ่ายค้าน (วิกิพีเดีย)
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 2 ปี 7 เดือน 21 วัน ยังไม่จัดเลือกตั้ง
หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ ถอดถอนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในคดีย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรเมื่อ 20 พฤษภาคม 2557 และในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ระหว่างการเจรจา 7 ฝ่ายเพื่อหาทางออกทางการเมืองเป็นวันที่สองที่สโมสรกองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศยึดอำนาจกลางที่ประชุม ในนามคณะรักษาความแห่งชาติ หรือ คสช. มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ยกเว้นหมวด 2 และต่อมามีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
โดยนับตั้งแต่ยึดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. เคยประกาศถึงโรดแมปในหลายโอกาส โดยครั้งแรกภายหลังการยึดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวในรายการ “คสช.คืนความสุขให้คนไทย” เมื่อ 30 พฤษภาคม2557 ระบุถึงโรดแมป คสช. ว่าระยะที่ 1 ช่วงแรกของการควบคุมอำนาจการปกครอง จะต้องดำเนินการในเรื่องปรองดองสมานฉันท์ให้เร็วที่สุด ใช้เวลา 2-3 เดือน ระยะที่ 2 การใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว และร่างรัฐธรรมนูญ ใช้เวลา 1 ปี และหากสถานการณ์เรียบร้อยปกติ ปฏิรูปสำเร็จ ปรองดอง สมานฉันท์กับทุกฝ่าย ประชาชนมีความรักความสามัคคีกัน ก็จะเริ่มดำเนินการก้าวเข้าสู่ระยะที่ 3 คือการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ที่ทุกพวกทุกฝ่ายพอใจ กฎหมายทันสมัยในทุกด้าน กฎระเบียบ กติกาต่างๆ ได้รับการแก้ไข ได้คนดี สุจริต มีคุณธรรม มาปกครองบ้านเมืองด้วยหลักธรรมาภิบาล (ประชาไท, 31 พ.ค. 2557) ซึ่งหากเป็นไปตามแผนที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว การเลือกตั้งก็จะเกิดขึ้นภายในเดือนสิงหาคม 2558
อย่างไรก็ตามโรดแมปของ คสช. ก็เลื่อนออกไปอีก โดยระหว่างการเยือนญี่ปุ่นปีเดือนกุมภาพันธ์ 2558 พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ NHKระบุว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยว่า หากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินไปด้วยความราบรื่น อาจทำให้การเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทย มีขึ้นเร็วที่สุดปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 (ไทยรัฐ)
ต่อมาในวันที่ 6 กันยายน 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และต้องมีการตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดใหม่ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งไปอีก โดยกล่าวในวันที่ 27 กันยายน 2558 ว่า หากประชาชนลงประชามติเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะร่างโดย กรธ. ดังกล่าว ก็จะดำเนินการยกร่างกฎหมายลูกประกอบการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560 (ประชาไท)
อย่างไรก็ตามภายหลังจากผ่านการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ 7 สิงหาคม 2559 ไปแล้ว และรอการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่หนึ่ง ระบุว่า กรอบเวลาการเลือกตั้งจะยืดออกไปอีก โดยอ้างถึงการทำงานของ สนช.ตลอดปี 2560 ว่าจะมีงานสำคัญคือการพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) จำนวน 10 ฉบับ รวมไปถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกประมาณ 50 ฉบับ รวมแล้วประมาณ 60 ฉบับ ซึ่งเป็นภารกิจและความรับผิดชอบของ สนช.ที่ต้องดำเนินการตามกรอบเวลาของรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีมีมติเร่งรัดเป็นพิเศษอีก 41 ฉบับ รวมในส่วนนี้ทั้งหมดแล้วจะมีประมาณ 100 ฉบับ และยังมีกฎหมายที่อยู่ในบัญชีตามโรดแมปของคณะรัฐมนตรีอีกมากกว่า 100 ฉบับ ซึ่งตรงนี้เป็นภารกิจของ สนช.ทั้งหมดในปี 2560 ที่ต้องรับผิดชอบเพื่อออกกฎหมายเพื่อให้เป็นเครื่องมือกับรัฐบาลในการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของโรดแมปก่อนนำไปสู่การเลือกตั้งประมาณกลางปี 2561 (มติชน)
ที่จริงแล้ว รัฐบาล คสช. สามารถจัดเลือกตั้งได้เร็วกว่าที่รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติระบุ เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 268 กำหนดให้ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส. ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ใน 10 ฉบับผ่าน ประกอบด้วย (1) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (3) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (รัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ, ประชาไท, 29 มีนาคม 2559)
คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่
รัฐประหารครั้งที่สอง 20 ตุลาคม 2520 เลือกตั้งครั้งแรก 22 เมษายน 2522
ใช้เวลา 1 ปี 6 เดือน 2 วัน เพื่อจัดเลือกตั้งครั้งแรก
คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ทำรัฐประหารในช่วงเย็นหลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยแต่งตั้งธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี (วิกิพีเดีย)
ต่อมา พล.ร.อ.สงัด ได้ทำรัฐประหารรัฐบาลธานินทร์อีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 โดยให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี (วิกิพีเดีย) และมีประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 และประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 ซึ่งธรรมนูญการปกครองฯ กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภาและสภาร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับให้มีสภานโยบายแห่งชาติ ซึ่งมีฐานะเหนือกว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี
สภานโยบายแห่งชาติสิ้นสุดลง เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ในเดือนธันวาคมปี 2521 แล้ว และหลังจากนั้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522 (วิกิพีเดีย) รวมระยะเวลาตั้งแต่รัฐประหารครั้งที่สองจนถึงวันที่จัดเลือกตั้งครั้งแรก ใช้เวลา 1 ปี 6 เดือน 2 วัน หากนับตั้งแต่รัฐประหารครั้งแรก 6 ตุลาคม 2519 จนถึงวันที่จัดเลือกตั้งครั้งแรก จะใช้เวลา 2 ปี 6 เดือน 16 วัน
พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ยังคงได้รับเลือกจากสภาเป็นนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งแถลงลาออกจากตำแหน่งกลางสภาเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 และสภาได้เลือก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รมว.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก มาเป็นนายกรัฐมนตรี โดย พล.อ.เปรม ได้รับเลือกจากสภาอีกหลายสมัยจนถึง พ.ศ. 2531 ที่ได้รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่สภาเลือกนายกรัฐมนตรีจากกองทัพนี้ ถูกเรียกว่ายุค "ประชาธิปไตยครึ่งใบ"
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เลือกตั้งครั้งแรก 23 ธันวาคม 2550
ใช้เวลา 1 ปี 3 เดือน 4 วัน เพื่อจัดการเลือกตั้งครั้งแรก
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) หรือต่อมาใช้ชื่อว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการทักษิณ ชินวัตรเมื่อ19 กันยายน 2549 ซึ่งอยู่ระหว่างร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผลทำให้ต้องยกเลิกการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ
หลังรัฐประหารมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2549 แทน และมีการแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตองคมนตรี มาเป็นนายกรัฐมนตรี และมีการนำร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นำมาลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550
โดยหลังจากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ และมีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ต่อมาจึงมีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 รวมเวลานับตั้งแต่มีการรัฐประหาร จนถึงการจัดเลือกตั้งครั้งแรก ใช้เวลา 1 ปี 3 เดือน 4 วัน
โดยผลการเลือกตั้งพรรคพลังประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นหลังการยุบพรรคไทยรักไทยในปี 2550 ได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดคือ 233 ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551
อย่างไรก็ตามยังคงเกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤษภาคมมีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งกินเวลายาวนานถึง 193 วัน จนกระทั่งในวันที่ 9 กันยายน 2551 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมัครขาดคุณสมบัติเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะจัดรายการโทรทัศน์ “ชิมไปบ่นไป” และต่อมาในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ต้องมีการพลิกขั้วการเมือง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง 3 พรรคได้แก่ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และ พรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 (วิกิพีเดีย)
คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)
พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์
รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 เลือกตั้งครั้งแรก 22 มีนาคม 2535
ใช้เวลา 1 ปี 28 วันเพื่อจัดเลือกตั้งครั้งแรก
คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ฯลฯ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยรัฐบาลชาติชายเป็นรัฐบาลผสมมาตั้งแต่หลังการเลือกตั้งทั่วไป 24 กรกฎาคม 2531การยึดอำนาจครั้งนี้ใช้วิธีควบคุมตัวนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก รมช.กลาโหม จากเครื่องบินซี 130 ที่กำลังขึ้นบิน ที่สนามบินกองทัพอากาศ (บน.6) ดอนเมือง ขณะเตรียมเดินไปทางเข้าเฝ้าถวายถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่ง รมช.กลาโหม ที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ (วิกิพีเดีย)
หลังรัฐประหาร มีการตั้งอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากยกเลิกสภาผู้แทนราษฎร ยังยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521นอกจากนี้ยังได้สั่งให้มีการดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองที่เป็นคนสำคัญและมีชื่อเสียงหลายคนจากหลายพรรคการเมืองเพื่อจะยึดทรัพย์อีกด้วย
ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป 22 มีนาคม 2535 (วิกิพีเดีย) รวมใช้เวลา 1 ปี 28 วัน เพื่อจัดการเลือกตั้งครั้งแรก
ผลการเลือกตั้ง พรรคสามัคคีธรรมซึ่งทหารสนับสนุนจะได้ ส.ส. เป็นอับดัน 1 คือ 79 ที่นั่ง มีพรรคการเมือง 5 พรรค ได้แก่ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทยและพรรคราษฎร ซึ่งมี ส.ส. รวมกัน 195 เสียงเสนอชื่อณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่มีข่าวว่าสหรัฐอเมริกาเคยปฏิเสธที่จะออกวีซ่าให้กับณรงค์ เนื่องจากสงสัยมีการพัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด ซึ่งกรณีดังกล่าวณรงค์ วงศ์วรรณปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง แต่ภายหลังข่าวดังกล่าวพรรคการเมืองทั้ง 5 พรรค จึงสนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี จนเป็นสาเหตุทำให้ประชาชนเรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นชนวนของเหตุการณ์พฤษภาคม 2535
หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 พล.อ.สุจินดา ได้แถลงลาออกจากนายกรัฐมนตรีเมื่อ 24 พฤษภาคม 2535 และต่อมาอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ตัดสินใจเสนอชื่ออานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 แทนที่จะเป็น พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย โดยอานันท์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองในวันที่ 23 กันยายน 2535 ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 ที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลผสม
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น